หากจะกล่าวถึงเรื่องศาสนาเริ่มต้น และเรื่องภูติผีวิญญาณนั้นภูมิภาคอินโดจีน หรืออุษาคเนย์ที่ไทยเป็นหนึ่งสมาชิกนั้นถือว่า เป็นหนึ่งในประเทศของภูมิภาคนี้ที่มีเรื่องราวเหล่านี้มากมาย ทั้งเรื่องเร้นลับ สถานที่ทางอารยธรรม วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดกับสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
คำว่าภูมิภาคอินโดจีน หรืออุษาเนย์ที่เราจะเห็นได้ตามสื่อต่าง ๆ ในเชิงประวัติศาสตร์นั้น หมายถึง ประเทศที่อยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ ซึ่งหมายรวมถึงดินแดนที่มีอารยธรรมทั้งอินเดีย (Indus) และจีน (China) ผสมผสานกัน ซึ่งประกอบด้วยประเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนามและกัมพูชา
ในเรื่องที่เราจะกล่าวต่อไปนี้สำหรับคนในภูมิภาคอินโดจีนนั้น เราจะกล่าวในกรอบของ คนไทย ถึงความเชื่อในเรื่องผี ซึ่งผีในที่นี้ คือ วิญญาณที่ออกจากร่างกายเมื่อตาย และวิญญาณจะไปอยู่ในโลกหลังความตาย หรือ ตกค้างอยู่ในโลกที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ เดินสวนกันไปมากับเราเพียงแต่อยู่คนละคลื่นความถี่เราเลยมองไม่เห็น บางส่วนอาจอยู่ในพืช แฝงอยู่ในสัตว์ และอาจจะแฝงตามวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่อยู่รอบตัวก็ได้ ที่สำคัญคือมีอิทธิพลในการให้คุณให้โทษกับเราได้ด้วย
ผีในกรอบความคิดที่เรากล่าวถึงนี้ยังสามารถเป็นเทพารักษ์สิ่งปลูกสร้างหรือพื้นที่ของสถานที่ สิ่งหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่ปรากฏให้เห็นทั่วไปจนถือว่าเป็นเรื่องปกติของไทยเราก็คือ ศาลพระภูมิ ศาลตายาย ศาลเทพต่าง ๆ ศาลเพียงตา และอื่น ๆ อีกหลากหลายตามความเชื่อที่สืบต่อกันมาส่วนนึง และบรูณาการเองอีกส่วนตามยุคสมัย หรือตามสะดวกใจก็ตามแต่ แต่ก็ไม่ได้พ้นเป็นที่อยู่ของผีที่เป็นวิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณอื่นที่ปกปักษ์ผู้คนเหล่านั้ แต่ส่วนสำคัญที่ต้องพึงระวังก็คือ บางผีที่เป็นวิญญาณมุ่งร้ายก็มี ซึ่งตอนแรก ๆ อาจจะดูดี แต่หลังจากนั้นก็สร้างความบรรลัยได้ไม่เว้นแต่ละวัน
เรามาว่ากันในส่วนอันเป็นพลังงานด้านให้คุณ อาทิเช่น รุกขเทวา เทพารักษ์ หรือ เทวาอารักษ์ที่ปกปักษ์รักษา อาคาร สถานที่ บ้านเมือง ประเทศชาติ จังหวัดต่าง ๆ เช่น ผีวัด ผีบ้าน ผีเจ้าที่ หลักเมือง มักจะมีการเฉลิมฉลองด้วยพิธีกรรมมีการชุมนุมหมู่ชนที่เคารพนับถือในท้องถิ่นนั้น มีการการถวายอาหาร เครื่องสักการะมากมาย มีการฟ้อนรำ และอื่น ๆ ตามศรัทธาของหมู่ชน และความนิยมในเทวาเหล่านั้น ซึ่งเทพเจ้าของฮินดูที่เรารู้จักนั้นก็อยู่ในลิสต์นี้ด้วยเช่นกัน ส่วนเทพเจ้ามิใช่ฮินดูที่ได้รับความเคารพนับถือ ชาวพื้นเมืองไทยเราเรียกกันว่า ผีแถน
อีกเรื่องที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ คือ คำว่า ขวัญเอ๋ยขวัญมา ขวัญ คือ อะไร ทำไมคนไทยเรามีความเชื่อในเรื่อง ขวัญ ที่มีความเชื่อนี้เนื่องจากว่าคนไทยถือว่า ขวัญเป็นอีกส่วนหนึ่งแยกจากวิญญาณและร่างกาย ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของร่างกายและก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของวิญญาณ เป็นส่วนที่ดำรงไว้ซึ่งมงคล หากขาดหายไปก็จะเกิดความไม่มงคล จนถึงขั้น เสียสติได้ ความรู้นี้ถูกถ่ายทอดสืบกันมาเรื่อย ๆ แม้จะจางหาย แต่ก็ยังคงได้ยินอยู่เป็นระยะ ในปัจจุบันก็ยังมีบางกิจกรรมมีพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญเพื่อความเป็นศิริมงคลของผู้มาร่วมงาน
ไม่ได้มีแค่ชาวไทยที่เชื่อเรื่องนี้ ชาวลาวก็มีความเชื่อที่ว่า วิญญาณสามสิบสองตน เมื่อรวมกันแล้วจะเรียกว่า ขวัญ ซึ่งขวัญนี้ทำหน้าที่ปกปักษ์ร่างกายที่เราอาศัยอยู่ในอวัยวะส่วนต่างๆ 32 ส่วน จะมีการประกอบพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญ ในโอกาสสำคัญ ๆ หรือเวลาที่บุคคลนั้น มีความหวาดกลัว วิตกกังวลในเรื่องราวต่าง ๆ นา ๆ ที่หาสาเหตุไม่ได้ เพื่อผูกมัดวิญญาณไว้กับร่างกายไม่ให้หนีหายไปไหน และมีความเชื่อว่าหากวิญญาณเหล่านี้ไม่กลับอยู่กับตัว บุคคลผู้นั้นก็เจ็บป่วยหรือมีอันตรายเข้ามาแทรกแซงได้โดยง่าย
พิธีกรรมบายศรีเรียกขวัญทั้งสามสิบสองกลับมาเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง มีความมั่งคั่งอย่างมั่นคง และความเป็นอยู่ดีตามความปรารถนาของผู้เข้าร่วมพิธีนั้น จะมีการผูกสายฝ้ายรอบเอวของผู้เข้าร่วมพิธีเพื่อรักษาวิญญาณให้อยู่กับที่ พิธีนี้มักทำเพื่อต้อนรับแขก ทั้งก่อนและหลังการเดินทางไกล และยังเป็นพิธีกรรมเพื่อใช้เยียวยารักษาผู้เจ็บป่วย หรือทำหลังจากฟื้นตัวจากอาการความเจ็บป่วยทั้งปวง เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นพิธีกรรมที่ใช้ในการแต่งงานของลาวลุ่ม และใช้ในพิธีการตั้งชื่อเด็กแรกเกิดอีกด้วย
ในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป คนส่วนใหญ่ยังมีเคารพในผีที่สถิตอยู่ในศาลพระภูมิ และเชื่อว่าจะปกป้องบริเวณบริเวกที่ใกล้เคียงนั้นให้จากอันตราย จึงยังมีการถวายดอกไม้ธูปเทียน น้ำ อาหารคาวหวาน และยังมีการขอพรต่าง ๆ จากผีในศาลนั้น ๆ เพื่อความปลอดภัย รวมถึงเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของผู้ขออีกด้วย
ส่วนผีที่ยิ่งใหญ่ในธรรมชาติ ได้แก่ เทพประจำต้นไม้ (รุกขเทวา/นางไม้) ภูเขา (เจ้าเขา) และป่า (เจ้าป่า) และด้านวิญญาณชั่วร้าย จะเป็นจำพวกขวัญของคนที่มีจิตใจชั่วร้ายในชาติก่อนหรือคนที่ตายโหง เช่น ผีปอบ ผีโขมด ผีไพร ผีพราย ผีน้ำ
ผีที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับบางสถานที่ เช่น ครัวเรือน แม่น้ำหรือป่านั้น ไม่สามารถจำแนกอย่างชัดเจนว่าดีหรือไม่ดีได้ แต่หากมีการถวายอามิสบูชาก็อาจจะทำให้ผีนั้นเมตตาช่วยหลือเกื้อกูลในสิ่งที่มนุษย์นั้นขอก็เป็นได้
ครั้นเมื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้ามามีบทบาทโดยไศวนิกายที่นับถือพระศิวะ ซึ่งกระจายอยู่ในชนชั้นปกครองของขอม-เขมร ไทย-อยุธยา และนิกายไวษณพนิกายซึ่งกระจายในชนชั้นปกครองของมาลายู-ศรีวิชัย ขอม-เขมร และไทย-อยุธยา เมื่อฮินดูเข้ามามีบทบาทก็ทำให้มีเทวสถานที่ประกอบด้วยมหาเทพทั้ง 3 พระองค์
ศาสนาพราหมณ์ไม่ห้ามการนับถือใดๆ แต่เน้นว่า พึงบูชามหาเทพเพื่อเข้าถึงสิ่งสูงสุด จะบูชาเทพอื่น ๆ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิอื่นใดก็ได้แต่ต้องไม่ขัดต่อมหาเทพ
แต่เมื่อศาสนาพุทธมีบทบาท โดยที่ศาสนาพุทธเข้ามาในดินแดนในแถบอินโดจีน ช่วงแรกคือ พุทธนิกายเถรวาท กระจายตัวอยู่ในแถบ มอญ ทวารวดี ต่อมาเป็นพุทธมหานิกาย กระจายอยู่ในแถบแหลมมาลายู เขมร ลาว ส่วนในทางเวียดนามจะเป็นพุทธมหานิกายฝ่ายจีน จนเมื่อราว พ.ศ. 1800 ได้รับพุทธนิกายเถรวาทสายลังกามาที่นครศรีธรรมราชและขยายขึ้นมาที่สุโขทัยและอยุธยา จากนั้นจึงแทนที่พุทธมหานิกายไปทั่วทั้งแหลมมาลายู
ศาสนาพุทธเถรวาทเน้นเรื่องจิต การฝึกจิต และการบรรลุนิพพาน การเวียนว่ายตายเกิดในวัฎสงสาร ใน 31 ภพภูมิ ในขณะที่ศาสนาพุทธมหายานเน้นเรื่องการบำเพ็ญพระโพธิสัตว์ และการบรรลุสู่สุขาวดี
ศาสนาพุทธไม่ห้ามการนับถือสิ่งที่คนอื่นนับถือ เพียงแต่เน้นว่ามิใช่สิ่งที่พึงบูชาสูงสุด
และครั้นเมื่อศาสนาอิสลาม และ ศาสนาคริสต์เข้ามามีบทบาทในหมู่เกาะชวา จากนั้นขยายขึ้นมาสู่คาบสมุทรมาลายูตอนล่าง ศาสนาคริสต์เข้ามาในไทย-อยุธยา ขยายไปตามชนเผ่า ชาติพันธุ์ตอนในของคาบสมุทร ทั้งสองศาสนามีหลักการสำคัญ คือ พระเจ้าสูงสุด และ ไม่ยอมรับการเชื่อในผี
การผสมผสานความเชื่อและกำหนดการแสดงออกในเชิงค่านิยม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม
ชนชาวภูมิภาคอินโดจีนยอมรับศาสนาพราหมณ์และส่งเสริมการบูชามหาเทพตามชนชั้นสูง แต่ก็พร้อมจะยอมรับการบูชาเทพ ผีและวิญญาณท้องถิ่นต่าง ๆ และจัดไว้เป็นเทพชั้นล่าง ส่วนผีที่ไม่ดีจัดเป็นอสูร (ไม่จัดเป็นแฑตย์ เปรต)
ชนชาวภูมิภาคอินโดจีนยอมรับศาสนาพุทธได้ยกให้พระพุทธเจ้าและเทวดาในแนวคิดพุทธเป็นความเป็นจริงที่ชนกลุ่มนี้เชื่อว่าจริง และได้จัดผี รวมถึงวิญญาณในระบบความเชื่อเดิมเข้าไว้ในระบบวัฎสงสารแบบพุทธ เช่น ผีที่ดีก็เลื่อนขั้นเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ กัน ผีที่ไม่ดีก็ไปเป็นเปรตภูมิ อสุรกายภูมิ
ชนชาวไทย ไท-กะได ลาว และชาติพันธุ์ต่างๆ ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันได้รับสืบทอดความเชื่อ และการแสดงออกต่างๆ มาอย่างรวมกัน แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชน โดยมีศาสนาพุทธเป็นแกนหลัก มีความเชื่อในศาสนาผีเป็นรายละเอียด และมีศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนประดับในลักษณะของสูงส่ง ดังจะสังเกตเห็นได้ว่า ในประเพณีต่าง ๆ จะมีพิธีพุทธเป็นสำคัญ มีพิธีพราหมณ์ในจุดที่เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ และมีพิธีย่อยในศาสนาผีแทรกอยู่เป็นระยะ ๆ
อยู่ร่วมกันแบบแตกต่างแต่ไม่แตกแยก มีความเป็นเอกภาพ แต่ก็ไม่ใช่ความหลากหลาย
ลักษณะประกอบสร้างความเชื่อขึ้นมาใหม่ มีลักษณะของการบูรณาการ การประยุกต์ใช้ ทำให้เกิดความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มชน ชาติพันธุ์ พื้นที่ แต่ก็ไม่ได้เกิดความแตกแยกกีดกันในระดับสามัญสำนึก (แต่มีการกีดกันและล้มล้างทำลายกันในระดับย่อยตามกระแสผู้นำและสังคม) ความกลมกลืนนี้เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว ทำให้เห็นเสน่ห์ของความกลมกลืนในชีวิต (harmony in life) ของคนไทยและชาติพันธุ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ
มาถึงตรงนี้เราน่าจะเข้าใจบริบทที่เราเห็นได้ทั่วไปในประเทศเรา จงมองมันอย่างเข้าใจ และจงเข้าใจตัวเองด้วยว่าเป็นอย่างไร ชีวิตเป็นสมบัติที่เราได้มาแต่กำเนิดเราจะเลือกเพียงมีความพอใจชั่วคราวไปวัน ๆ สุขอย่างเสแสร้ง จะเลือกข้ามพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงก็เป็นสิทธิที่เราพึงกระทำได้ทั้งนั้น หรือจะอยู่เวียนว่ายไปจนโลกนี้มีประชาธิปไตยที่แท้จริงก็ได้ ไม่มีใครมาจำกัดหรือหยุดภพชาติของเราได้
ถ้าเราไม่หยุดใครจะหยุดกองทุกข์ให้เราได้
Comments